สำนักงานศุลกากรมาบตาพุด
Maptaphut Customs Office
 

อำนาจ / หน้าที่ความรับผิดชอบ

ปัจจุบันนโยบายการค้าระหว่างประเทศ เป็นระบบการค้าแบบเสรี การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นำไปสู่การประกอบธุรกรรมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ทำให้การติดต่อการค้ามีความสะดวกและรวดเร็ว กรมศุลกากรจึงต้องปรับเปลี่ยนบทบาทจากเดิม ที่เน้นการจัดเก็บภาษีมาเป็นหน่วยงานเพื่อสนับสนุนความสามารถในการแข่งขันของประเทศและปกป้องความปลอดภัยของสังคม ดังวิสัยทัศน์ที่ว่า "องค์กรที่มุ่งมั่นให้บริการศุลกากรเป็นเลิศ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของเศรษฐกิจไทยและเชื่อมโยงการค้าโลก" และปัจจุบันตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2559 เห็นชอบหลักการโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก Eastern Economic Corridor : EEC โดยเป้าหมายและมาตรการส่งเสริม EEC ของรัฐบาล คือ การยกระดับพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกให้กลายเป็น "World-Class Economic Zone" ครอบคลุมพื้นที่นำร่อง 3 จังหวัด ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา เพื่อยกระดับคุณภาพและเพิ่มการเชื่อมต่อภายในประเทศและภูมิภาคมากขึ้นทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ และสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและโลจิสติกส์ของเอเชียในอนาคต ซึ่งประกอบด้วย การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงและรถไฟรางคู่ การก่อสร้างถนนมอเตอร์เวย์ 3 เส้นทาง การก่อสร้างท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 การก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง การก่อสร้างท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ และการก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นสนามบินเชิงพาณิชย์

ด่านศุลกากรมาบตาพุด ได้จัดตั้งเป็น สำนักงานศุลกากรมาบตาพุด ตามคำสั่งกรมศุลกากร ที่ 485/2563 สั่ง ณ วันที่ 11 พฤศจิกายน 2563 เพื่อรองรับภารกิจ และขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลที่มุ่งไปสู่ประเทศไทย 4.0 ด้านการขยายเศรษฐกิจและการลงทุน ตามโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ให้บรรลุเป้าหมาย รวมถึงเพื่อการปฎิบัติงานเกี่ยวกับการให้บริการทางศุลกากร การจัดเก็บรายได้ และการควบคุมทางศุลกากรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และทันต่อสถานการณ์

ในส่วนของสำนักงานศุลกากรมาบตาพุด ได้กำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบไว้ดังนี้
  1. ดำเนินการเกี่ยวกับการปฏิบัติพิธีการศุลกากร การจัดเก็บภาษีอากรและรายได้อื่นสำหรับสินค้านำเข้าและส่งออก สินค้าถ่ายลำ สินค้าผ่านแดน และของติดตัวผู้โดยสารที่นำเข้ามาในหรือนำออกไปนอกราชอาณาจักร การคืนอากรที่มิใช่กรณีตามมาตรา 29 และมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 รวมทั้งการควบคุมและตรวจสอบสินค้านำเข้าและส่งออก สินค้าถ่ายลำ สินค้าผ่านแดน และของติดตัวผู้โดยสารที่นำเข้ามาในหรือนำออกไปนอกราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
  2. ดำเนินการเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ด้านคลังสินค้าทัณฑ์บนและเขตปลอดอากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร เขตประกอบการเสรีตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
  3. สืบสวนและปราบปรามการกระทำผิดตามกฎหมายศุลกากรและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง และดำเนินการเกี่ยวกับการทบทวนเอกสารต่างๆ หลังผ่านพิธีการศุลกากร
  4. ตรวจสอบบันทึกบัญชีและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการนำของเข้าหรือส่งของออก ณ ที่ทำการของผู้นำของเข้า ผู้ส่งของออก หรือผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อปราบปรามการฉ้อฉลทางการค้า ภายในขอบเขตอำนาจหน้าที่
  5. ดำเนินการเกี่ยวกับคดีทางศุลกากร ของกลาง และของตกค้างที่อยู่ในความรับผิดชอบ
  6. วิเคราะห์และประเมินความเสี่ยงในการกระทำผิดตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าและส่งออกซึ่งสินค้า และของติดตัวผู้โดยสาร ที่นำเข้ามาในหรือนำออกไปนอกราชอาณาจักร รวมทั้งจัดทำประเมินผล พัฒนา และปรับปรุงฐานข้อมูลด้านศุลกากรเพื่อใช้ในการบริหารความเสี่ยง
  7. ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือที่ได้รับมอบหมาย





 

วันที่ปรับปรุงล่าสุด : 6 กรกฎาคม 2566 09:56:57
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : สำนักงานศุลกากรมาบตาพุด
ถ.ไอ-1 นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ต.มาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง 21150
หมายเลขโทรศัพท์ : 0 3868 3370

ข้อมูลบนเว็บไซต์นี้ อยู่ภายใต้ประกาศเงื่อนไขการใช้ข้อมูล และลิขสิทธิ์ ของสำนักงานศุลกากรมาบตาพุด
ลิขสิทธิ์ 2018 สำนักงานศุลกากรมาบตาพุด สงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งหมด @ออกแบบและพัฒนาโดยส่วนประมวลผลและคลังข้อมูล สำนักเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมศุลการ